..........จุล (ว.) เล็ก น้อย ใช้นำหน้าคำสมาส
..........นิทัศน์ (น.) ตัวอย่างที่นำมาแสดงให้เห็น อุทาหรณ์ คำว่า อุทาหรณ์ หมายถึง ตัวอย่างที่ยกขึ้นมาอ้างให้เห็นสิ่งหรือเรื่องที่ยกขึ้นมาเทียบเคียงเป็นตัวอย่าง
..........จุลนิทัศน์ หรือการจัดแสดง หมายถึง สิ่งหรือเรื่องที่ยกมาแสดงเพียงเล็กน้อยพอให้เห็นเป็นตัวอย่าง
ดังเช่น ธีรศักดิ์ อัครบวร (ธีรศักดิ์ อัครบวร, 2537, หน้า 75) อธิบายว่าโดยสำนึกและความรู้สึกในสังคมไทยเมื่อกล่าวถึงการจัดแสดงแล้ว จะให้ความคิดไปในเรื่องของนันทนาการ งานรื่นเริง หรืองานสวนสนุกเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นความหมายของ “display” จึงตรงกับศัพท์ในภาษาไทยว่า “จุลนิทัศน์” มากกว่า
..........Display แปลว่า “การจัดแสดง” ซึ่งในบางครั้งคำว่าการจัดแสดงในภาษาไทยอาจทำให้สับสนได้ จึงมีนักการศึกษาบางท่านพยายามใช้ศัพท์ที่สื่อความหมายให้ตรงกับลักษณะของกิจกรรมจริง ๆ ทั้งยังป้องกันการสับสนด้วย
..........การจัดแสดงหรือจุลนิทัศน์ หมายถึง นิทรรศการขนาดเล็กมากที่นำเสนอข้อมูล วัตถุสิ่งของผลงาน สินค้า หรือผลิตภัณฑ์บางส่วนพอเป็นตัวอย่างในสถานที่ที่มีการตกแต่งไว้อย่างสวยงามและเหมาะสม โดยเน้นเป็นพิเศษเพื่อเร้าใจให้ผู้ชมเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือพฤติกรรมไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้
..........นิทรรศการ เป็นการรวบรวมสิ่งของและวัสดุเป็นชุด ๆ เพื่อขมวดความคิดตามวัตถุประสงค์ทางการศึกษา (Good, 1972, p.225) หากเป็นกิจกรรมด้านการค้าการจัดนิทรรศการเป็นการแสดงผลงานสินค้า ผลิตภัณฑ์หรือกิจกรรมให้คนทั่วไปชม (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546, หน้า 588) หรือเป็นการจัดแสดงสื่อที่รวบรวมได้แก่ชุมชน อาจเป็นผลงานศิลปะอุตสาหกรรมหรือการโฆษณาสินค้า (Oxford University, 1989, p.419) นอกจากนี้อาจเป็นการรวบรวมงานประติมากรรมต่าง ๆ หรือสิ่งของอื่น ๆ เพื่อจัดแสดงในที่สาธารณชนที่ผู้คนสามารถเข้าไปชมได้ (Sinclair, 1994, p.492) เป็นการสร้างความสนใจให้กับผู้ที่ผ่านไปผ่านมา การให้ข้อมูลเกี่ยวกับความรู้ความคิด เร้าให้เกิดความสนใจเกี่ยวกับเนื้อหาซึ่งกระตุ้นให้มีการกระทำบางอย่าง (ณรงค์ สมพงษ์, 2535, หน้า 1)
.........นิทรรศการ หมายถึงการจัดแสดงข้อมูลเนื้อหาผลงานต่าง ๆ ด้วยวัสดุ สิ่งของ อุปกรณ์และกิจกรรมที่หลากหลายแต่มีความสัมพันธ์กันในแต่ละเรื่องโดยมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน มีการวางแผนและออกแบบที่เร้าความสนใจให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในการดู การฟัง การสังเกต การจับต้องและการทดลองด้วยสื่อที่หลากหลาย เช่น รูปภาพ ของจริง หุ่นจำลอง ป้ายนิเทศ และกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การประกวด การแข่งขัน การบรรยาย การสาธิต การอภิปราย และการตอบปัญหา เป็นต้น
ภาพที่ 1.1 แสดงโครงสร้างการตั้งวางก้อนหินของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ที่มา ( Nathaniel, 1973, p. 9 )
การจัดเทศกาลแสดงสินค้าในยุคโบราณ
..........ในสมัยโบราณมีการจัดนิทรรศการขนาดใหญ่ในลักษณะการจัดเทศกาลแสดงสินค้า กรอเลีย (Grolier, 1973, p.9-18) ได้อธิบายถึงคำศัพท์ที่เกี่ยวกับการจัดเทศกาลแสดงสินค้า ซึ่งพอประมวลได้ว่าคำว่า “fair” มาจากภาษาละตินว่า “feria” มีความหมายว่า “วันหยุดเทศกาล” หรือ “วันหยุดพักผ่อน” fair จึงเป็นรูปแบบของการจัดแสดงและนิทรรศการทางการค้าที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากคนสมัยนั้นส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามไร่นาป่าเขาซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างขวาง เมื่อต้องการอะไรก็จะผลิตหรือสร้างขึ้นด้วยตนเอง
การจัดเทศกาลแสดงสินค้าในยุคกลางและยุคหลัง
.........ในยุคกลางประชาชนในยุโรปมีความสนใจเรื่องการค้าขายมากขึ้น ทำให้กิจกรรมการจัดเทศกาลแสดงสินค้าเกิดขึ้นทั่วไป หลังจากยุโรปตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรโรมัน เทศกาลการแสดงสินค้ากลายเป็นแหล่งรวมหรือพบปะกันของชาวยุโรปจาก 4 ประเทศได้แก่ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม รัสเซียและเยอรมัน เมืองทรอยส์ (Troyes) เป็นเมืองหนึ่งที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับเหล้าองุ่นและเป็นศูนย์กลางทางการค้าของยุโรป และที่เมืองทรอยส์นี้เองได้มีระบบน้ำหนักสำหรับชั่งทองคำ เงินและ อัญมณีเกิดขึ้นโดยมีระบบการชั่งดังนี้ คือ หนึ่งเพนนี เท่ากับ 1 ออนซ์และ 12 ออนซ์เท่ากับ 1 ปอนด์ ซึ่งระบบน้ำหนักนี้ยังใช้มาจนปัจจุบันทั้งในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
การจัดเทศกาลแสดงสินค้าสมัยใหม่
.........ในศตวรรษที่ 19 โรงงานต่าง ๆ ที่ผลิตสินค้าจำนวนมากมาย การสื่อสารและการขนส่งสินค้าดีขึ้น ผู้ผลิตจะนำเสนอหรือจัดแสดงเฉพาะสินค้าตัวอย่างเท่านั้น เมื่อผู้ซื้อต้องการสินค้าใดก็สามารถสั่งซื้อได้อย่างรวดเร็ว นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่และมีความหมายในการจัดเทศกาลแสดงสินค้าเป็นการจัดนิทรรศการขนาดใหญ่ แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ ศิลปะและสถาปัตยกรรมจากทั่วโลก การจัดกิจกรรมลักษณะนี้นิยมเรียกว่า มหกรรม (exposition)
การจัดนิทรรศการในประเทศไทย
.............จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า นิทรรศการในประเทศไทยโดยเฉพาะทางด้านการศึกษา เริ่มจัดขึ้นในวัดและในวัง
.............ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์และการจัดแสดงงานศิลป์ที่เกี่ยวกับศาสนาในวัดวาอารามล้วนเป็นสื่อที่จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา เช่น ภาพพุทธประวัติและภาพปริศนาธรรม มาตั้งแต่ยุคสมัยอยุธยามาจนถึงยุคปัจจุบัน ส่วนนิทรรศการในวังนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังเช่นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นที่จัดแสดงสิ่งของที่รวบรวมมาตั้งแต่ครั้งยังผนวชอยู่
ความสำคัญของนิทรรศการ
...........นิทรรศการเป็นสื่อที่มีคุณค่าและมีศักยภาพสูงในการดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้ดีเนื่องจากความหลากหลายของสื่อสามารถตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้ชมได้
...........ดังนั้นนิทรรศการที่ดีจะมีอิทธิพลต่อผู้ชมในด้านความรู้ความเข้าใจ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านอารมณ์และความรู้สึก การเปลี่ยนแปลงเจตคติ รวมทั้งการตัดสินใจดังจะเห็นได้จากตัวอย่างนิทรรศการทางการศึกษา ทางการค้าและทางศิลปวัฒนธรรม
วัตถุประสงค์ในการจัดนิทรรศการ
.............1.เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ
............2.เพื่อสร้างความประทับใจ ให้ผู้ชมเกิดความเลื่อมใสศรัทธา
............3.เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมหรือกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนแปลงทัศนคติไปตามวัตถุประสงค์ขององค์กร
...........4.เพื่อการประชาสัมพันธ์หรือสร้างภาพพจน์ที่ดีของบุคลากร องค์กร หรือหน่วยงาน
...........5.เพื่อสร้างความบันเทิง
...........6.เพื่อเป็นการประเมินประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานโดยรวมของหน่วยงานหรือ องค์กรที่เป็นเจ้าของนิทรรศการแต่ละครั้ง
คุณค่าของนิทรรศการ
..........1.เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ ความคิดและข้อมูลต่าง ๆ
..........2.เป็นแหล่งถ่ายทอดสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมได้โดยอาศัยสื่อต่าง ๆจึงทำให้เข้าใจง่ายขึ้น
..........3.เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ที่มีประสิทธิภาพโดยเปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมใน กิจกรรมต่าง ๆ
..........4.เป็นการส่งเสริมการทำงานเป็นหมู่คณะได้เป็นอย่างดี
..........5.การใช้สื่อหลายชนิดในการจัดแสดงนิทรรศการ
คุณสมบัติของผู้จัดนิทรรศการ
.........1.มีความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยาหรือการทำความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์
.........2.มีประสบการณ์และความรู้ความสามารถในวิทยาการแขนงต่าง ๆ
.........3.มีความคิดสร้างสรรค์
.........4.มีแรงจูงใจ มีความมุมานะ มีความสุขที่จะทำงานให้ประสบความสำเร็จ
..........5.มีแผนงานและการทำงานอย่างเป็นระบบ
ประเภทของนิทรรศการ
1. จำแนกตามขนาดของนิทรรศการ ได้แก่
.........1.1 การจัดแสดงหรือจุลนิทัศน์
.........1.2 นิทรรศการทั่วไป
.........1.3 มหกรรม
2. จำแนกตามวัตถุประสงค์ในการจัด ได้แก่
.........2.1 นิทรรศการเพื่อการศึกษา
.........2.2 นิทรรศการเพื่อการประชาสัมพันธ์
.........2.3 นิทรรศการเพื่อการค้า
3. จำแนกตามระยะเวลาในการจัด ได้แก่
.........3.1 นิทรรศการถาวร
.........3.2 นิทรรศการชั่วคราว
.........3.3 นิทรรศการเคลื่อนที่
4. จำแนกตามสถานที่ที่ใช้ในการจัด ได้แก่
.........4.1 นิทรรศการในอาคาร
.........4.2 นิทรรศการกลางแจ้ง
.........4.3 นิทรรศการกึ่งในอาคารกึ่งกลางแจ้ง
เอกสารอ้างอิง
วิวรรธน์ จันทร์เทพย์.(2548). การจัดแสดงและนิทรรศการ. คณะครุศาสตร์.
............มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง