วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

บทที่ 1 บทนำเกี่ยวกับการจัดแสดงและนิทรรศการ

ความหมายของการจัดแสดง
..........พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546, หน้า 319, 588, 1384) อธิบายคำว่า “จุลนิทัศน์” ว่ามาจากคำว่า จุล กับ นิทัศน์
..........จุล (ว.) เล็ก น้อย ใช้นำหน้าคำสมาส
..........นิทัศน์ (น.) ตัวอย่างที่นำมาแสดงให้เห็น อุทาหรณ์ คำว่า อุทาหรณ์ หมายถึง ตัวอย่างที่ยกขึ้นมาอ้างให้เห็นสิ่งหรือเรื่องที่ยกขึ้นมาเทียบเคียงเป็นตัวอย่าง
..........จุลนิทัศน์ หรือการจัดแสดง หมายถึง สิ่งหรือเรื่องที่ยกมาแสดงเพียงเล็กน้อยพอให้เห็นเป็นตัวอย่าง
ดังเช่น ธีรศักดิ์ อัครบวร (ธีรศักดิ์ อัครบวร, 2537, หน้า 75) อธิบายว่าโดยสำนึกและความรู้สึกในสังคมไทยเมื่อกล่าวถึงการจัดแสดงแล้ว จะให้ความคิดไปในเรื่องของนันทนาการ งานรื่นเริง หรืองานสวนสนุกเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นความหมายของ “display” จึงตรงกับศัพท์ในภาษาไทยว่า “จุลนิทัศน์” มากกว่า
..........Display แปลว่า “การจัดแสดง” ซึ่งในบางครั้งคำว่าการจัดแสดงในภาษาไทยอาจทำให้สับสนได้ จึงมีนักการศึกษาบางท่านพยายามใช้ศัพท์ที่สื่อความหมายให้ตรงกับลักษณะของกิจกรรมจริง ๆ ทั้งยังป้องกันการสับสนด้วย
..........วิจิตร อาวะกุล (วิจิตร อาวะกุล, 2534, หน้า 131) “การจัดแสดงขนาดเล็ก (display) หรือนิทรรศการ (exhibition) อาจจัดในห้อง ระเบียง ในเต็นท์ ถ้าจัดเป็นงานโดยใช้บริเวณกว้างขวางเรียกว่างานแสดง (fairs) หรืองานแสดงสินค้านานาชาติ (international trade fairs) ถ้าเป็นสินค้านานาชาติขนาดใหญ่เรียกว่า “exposition” ซึ่งทำให้เห็นความแตกต่างของขนาดและสถานที่รวมทั้งคำศัพท์ที่ใช้เรียกในการจัดนิทรรศการขนาดต่าง ๆ ด้วย

สรุป
..........การจัดแสดงหรือจุลนิทัศน์ หมายถึง นิทรรศการขนาดเล็กมากที่นำเสนอข้อมูล วัตถุสิ่งของผลงาน สินค้า หรือผลิตภัณฑ์บางส่วนพอเป็นตัวอย่างในสถานที่ที่มีการตกแต่งไว้อย่างสวยงามและเหมาะสม โดยเน้นเป็นพิเศษเพื่อเร้าใจให้ผู้ชมเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือพฤติกรรมไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

ความหมายของนิทรรศการ
..........ในประเทศไทยกิจกรรมการจัดนิทรรศการ (exhibition) ได้จัดอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะนั้นยังใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “เอกซฮิปิเชน ครั้งที่ 1” (ธีรศักดิ์ อัครบวร, 2537, หน้า 7)
..........นิทรรศการ เป็นการรวบรวมสิ่งของและวัสดุเป็นชุด ๆ เพื่อขมวดความคิดตามวัตถุประสงค์ทางการศึกษา (Good, 1972, p.225) หากเป็นกิจกรรมด้านการค้าการจัดนิทรรศการเป็นการแสดงผลงานสินค้า ผลิตภัณฑ์หรือกิจกรรมให้คนทั่วไปชม (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546, หน้า 588) หรือเป็นการจัดแสดงสื่อที่รวบรวมได้แก่ชุมชน อาจเป็นผลงานศิลปะอุตสาหกรรมหรือการโฆษณาสินค้า (Oxford University, 1989, p.419) นอกจากนี้อาจเป็นการรวบรวมงานประติมากรรมต่าง ๆ หรือสิ่งของอื่น ๆ เพื่อจัดแสดงในที่สาธารณชนที่ผู้คนสามารถเข้าไปชมได้ (Sinclair, 1994, p.492) เป็นการสร้างความสนใจให้กับผู้ที่ผ่านไปผ่านมา การให้ข้อมูลเกี่ยวกับความรู้ความคิด เร้าให้เกิดความสนใจเกี่ยวกับเนื้อหาซึ่งกระตุ้นให้มีการกระทำบางอย่าง (ณรงค์ สมพงษ์, 2535, หน้า 1)
.........ชม ภูมิภาค (ชม ภูมิภาค, ม.ป.ป., หน้า 243) อธิบายความหมายของนิทรรศการว่า หมายถึง การนำเอาทัศนวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน เช่น แผนภาพ แผนภูมิ รูปภาพ กราฟ วัสดุ 3 มิติ ของจริงและของตัวอย่าง เป็นต้น มาแสดงเพื่อเป็นการสื่อสารทางความคิดและความรู้ให้กับบุคคลระดับต่าง ๆ เช่น ครู นักเรียน นักศึกษา ตามโครงเรื่องที่วางไว้
.........พยุงศักดิ์ ประจุศิลป์ (พยุงศักดิ์ ประจุศิลป์, 2535, หน้า 1) ให้ความหมายของนิทรรศการคือการแสดงการให้การศึกษาอย่างหนึ่งด้วยการแสดงงานให้ชม อาจมีผู้บรรยายให้ฟังหรือไม่ต้องมีก็ได้ การแสดงอาจแสดงในอาคารหรือนอกอาคารก็ได้ ซึ่งประกอบด้วยของจริง สิ่งของ ภาพถ่าย และแผนภูมิ สิ่งของต่าง ๆ ที่จะนำออกมาแสดง ในการจัดเตรียมจะต้องจัดอย่างมีระเบียบเรียบร้อยดูง่ายและคำนึงถึงความแจ่มชัดรวมทั้งก่อให้เกิดความรู้ ช่วยให้ผู้ชมเข้าใจข้อมูล(information) โดยใช้ข้อความสั้น ๆ อธิบายประกอบ ซึ่งควรจะมีความน่าดูน่าชมด้วย

สรุป
.........นิทรรศการ หมายถึงการจัดแสดงข้อมูลเนื้อหาผลงานต่าง ๆ ด้วยวัสดุ สิ่งของ อุปกรณ์และกิจกรรมที่หลากหลายแต่มีความสัมพันธ์กันในแต่ละเรื่องโดยมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน มีการวางแผนและออกแบบที่เร้าความสนใจให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในการดู การฟัง การสังเกต การจับต้องและการทดลองด้วยสื่อที่หลากหลาย เช่น รูปภาพ ของจริง หุ่นจำลอง ป้ายนิเทศ และกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การประกวด การแข่งขัน การบรรยาย การสาธิต การอภิปราย และการตอบปัญหา เป็นต้น
........การจัดแสดงและนิทรรศการ แสดงให้เห็นว่าการจัดแสดง คือ นิทรรศการขนาดเล็กมาก นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการขนาดใหญ่ ได้แก่ นิทรรศการประเภทงานแสดง (fair) หมายถึง นิทรรศการขนาดใหญ่ที่มีบริเวณกว้างขวาง และงานมหกรรม (exposition) หมายถึง นิทรรศการขนาดใหญ่มโหฬารระดับชาติหรือนานาชาติ ดังนั้นจึงกล่าวโดยรวมได้ว่า “การจัดแสดงทุกขนาดเป็นนิทรรศการ”

ประวัติของการจัดแสดง
1. ที่มาของความคิดในการจัดแสดง
........ยุคก่อนประวัติศาสตร์มนุษย์เริ่มรู้จักออกแบบตกแต่งที่อยู่อาศัยภายในถ้ำ รู้จักแบ่งพื้นที่ในการใช้สอยอย่างหยาบ ๆ คร่าว ๆ เช่น ส่วนที่นอน ที่กินอาหาร การรู้จักวางอาวุธสิ่งของเครื่องใช้ไว้เป็นที่เป็นทางเพื่อความสะดวกในการหยิบใช้งาน การรู้จักตกแต่งร่างกายและสิ่งของเครื่องใช้ด้วยสีและลวดลาย ทั้งนี้อาจแสดงออกเพื่อวัตถุประสงค์หลายประการ เช่น การบอกสถานภาพทางสังคม การดึงดูดความสนใจจากผู้อื่น การสนองตอบอุดมคติและความเชื่อ การพรางตัวให้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น แม้มนุษย์ในยุคนั้นไม่ระบุวัตถุประสงค์ไว้ชัดเจน แต่จากหลักฐานที่ค้นพบจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลก แสดงให้เห็นพอเป็นแนวทางสันนิษฐานให้สอดคล้องกับหลักวิชาสาขา ต่าง ๆ รวมทั้งการจัดแสดงหรือจุลนิทัศน์ด้วย
........การจัดแสดงหรือจุลนิทัศน์ทางการศึกษานั้นไม่ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากการจัดแสดงสินค้าโดยตรง แต่เกิดจากความคิดของนักการศึกษาที่จะสร้างสื่อเพื่อใช้ในการเรียนการสอน ทำให้การจัดแสดงหรือจุลนิทัศน์และนิทรรศการจัดเป็นกิจกรรมในกระบวนการเรียนการสอนหรือการศึกษาอย่างหนึ่ง การใช้กระดานดำเป็นครั้งแรกเมื่อ 400 กว่าปีก่อน ก็อาจนับเป็นการใช้จุลนิทัศน์ทางการศึกษาในยุคเริ่มต้นด้วย
........การจัดแสดงหรือจุลนิทัศน์ทางการศึกษาอย่างเป็นกิจจะลักษณะครั้งแรกนั้นก็เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1900 กล่าวคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งฟิลาเดลเฟียได้รวบรวมภาพถ่ายส่งไปบริการโรงเรียนต่าง ๆ ในรัฐเพนซิลวาเนียเพื่อให้ครูใช้เป็นอุปกรณ์การสอนและจัดแสดงตามมุมต่าง ๆ ในโรงเรียน อีก 5 ปีต่อมาโรงเรียนหลายแหล่งในเพนซิลวาเนียก็จัดตั้งพิพิธภัณฑ์โรงเรียน (school museum) ขึ้นเป็นครั้งแรก ในเมืองเซนต์หลุยส์ ปี ค.ศ. 1908 เมืองรีดดิ้งก็จัดตั้งบ้าง และในปี 1909 เมืองคลิฟแลนด์ได้สร้างพิพิธภัณฑ์โรงเรียนขนาดใหญ่ขึ้น ภายหลังมีการเสนอให้แลกเปลี่ยนทัศนูปกรณ์บางอย่างหมุนเวียนจัดแสดงกันระหว่างพิพิธภัณฑ์โรงเรียนต่าง ๆ (สมพงษ์ ศิริเจริญ อ้างถึงใน ธีรศักดิ์ อัครบวร, 2537, หน้า 18)

2. การจัดแสดงเพื่อการศึกษาในประเทศไทย
.......จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยพบว่า สมัยกรุงสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงคิดประดิษฐ์อักษรไทยไว้บนหลักศิลาจารึกซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยมบรรจุตัวอักษรไว้ทั้ง 4 ด้าน พระราชวรมุนี (พระราชวรมุนี, 2525, หน้า 262) อธิบายว่า พระองค์ทรงคิดตั้งแบบหนังสือไทยขึ้น เมื่อ พ.ศ. 1826 ทรงทำศิลาจารึกพระราชกรณียกิจและเรื่องราวต่าง ๆ ไว้ อันมีประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์
.......นับตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 การศึกษาของไทยได้รับอิทธิพลจากตะวันตก มีการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบขึ้นในวัดหรือในโรงเรียนโดยการจำแนกเนื้อหาบทเรียนเป็นหมวดหมู่แต่ละหมู่หรือแต่ละเรื่องเรียกว่าวิชา การเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จึงใช้วิธีการที่แยบยลยิ่งขึ้น มีการกำหนดตารางเวลาและสถานที่เรียนเป็นกิจจะลักษณะ และ เนื่องจากเนื้อหาที่ผู้เรียนจะเรียนรู้มีมากมายหลากหลายวิชา ครูผู้สอนจึงจำเป็นต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ประกอบการสอน เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น หนังสือแบบเรียน กระดานดำของจริง ของตัวอย่าง กิจกรรมเล่านิทาน การสาธิต ฯลฯ หากต้องการให้ผู้เรียนเรียนรู้ซ้ำแล้วซ้ำอีกก็นำวัสดุอุปกรณ์หรือตัวอย่างของบทเรียนมาจัดแสดงไว้ในที่ใดที่หนึ่งของห้องเรียน วิธีการเช่นนี้จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงหรือจัดจุลนิทัศน์เพื่อการศึกษาอย่างแท้จริง

ประวัติของนิทรรศการ
.........การจัดนิทรรศการเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับมนุษยชาติ แต่ในยุคแรกเริ่มอาจจะยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจนแน่นอน ในยุคก่อนประวัติศาสตร์คงไม่มีชื่อเรียกว่า นิทรรศการ หรือ exhibition, fair, expo แต่อย่างใด อาจเป็นเพียงการจัดวางสิ่งของเครื่องใช้ไว้ในที่ที่เคยวางเป็นประจำ การวาดภาพตามผนังถ้ำเพื่อถ่ายทอดความเชื่อ การนำสินค้ามาจัดแสดงเพื่อการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขาย ดังนั้นการนำเสนอประวัติของนิทรรศการจึงประกอบด้วยรายละเอียดตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการจัดนิทรรศการจนถึงปัจจุบัน พร้อมทั้งภาพแสดงประวัติของนิทรรศการ
จุดเริ่มต้นของการจัดนิทรรศการ
.........จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่เป็นภาพเขียนจำนวนมากในถ้ำลาสโก (Lascause) และถ้ำอัลตามิลา (Altamila) ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศสเขตติดต่อกับทิศเหนือของประเทศสเปน นักโบราณคดีและนักวิชาการด้านศิลปะระบุว่าเป็นภาพเขียนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ราว 15,000 – 10,000 ปี ก่อนคริสตศักราช เป็นฝีมือของมนุษย์เผ่าโครมันยองสันนิษฐานว่าเป็นการเขียนเพื่อถ่ายทอดความเชื่อและความรู้สึกที่มีต่อสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันด้วยสำนึกในบาปบุญ คุณโทษ การสร้างกำลังใจ และการแสดงความอุดมสมบูรณ์ (อารี สุทธิพันธ์, 2516, หน้า 160) วิธีการถ่ายทอดใช้เทคนิคการระบายสี การพ่นและการเซาะร่อง (Nathaniel, 1973, p.7) แล้วอุดรอยเซาะด้วยไขผสมเลือดสัตว์ ทำให้ผลงานยึดเกาะติดผนังถ้ำทนนานอย่างถาวรจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ราว 1,500 ปี ก่อนคริสตศักราชในประเทศอังกฤษ มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้จัดแสดงโครงสร้างโดยการตั้งวางก้อนหินขนาดใหญ่ซ้อนกันเพื่อเป็นสัญลักษณ์ตามความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติกับมนุษย์ เราเรียกผลงานนี้ว่า หมู่หิน (Stonehenge) ตั้งอยู่บนที่ราบซาลิสเบอรี่ (Nathaniel, 1973, p.10) การถ่ายทอดเนื้อหาสาระและความรู้สึกเป็นภาพเขียนแบบ2 มิติและการจัดโครงสร้างแบบ 3 มิติ เพื่อการนำเสนอให้ผู้ชมหรือกลุ่มคนเผ่าพันธุ์เดียวกันได้รับรู้และปฏิบัติตามในส่วนที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต นับเป็นต้นกำเนิดหรือพื้นฐานสำคัญของการจัดแสดงและนิทรรศการโดยเฉพาะนิทรรศการแบบถาวรหรือพิพิธภัณฑ์ในยุคต่อ ๆ มา



ภาพที่ 1.1 แสดงโครงสร้างการตั้งวางก้อนหินของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ที่มา ( Nathaniel, 1973, p. 9 )

การจัดเทศกาลแสดงสินค้าในยุคโบราณ

..........ในสมัยโบราณมีการจัดนิทรรศการขนาดใหญ่ในลักษณะการจัดเทศกาลแสดงสินค้า กรอเลีย (Grolier, 1973, p.9-18) ได้อธิบายถึงคำศัพท์ที่เกี่ยวกับการจัดเทศกาลแสดงสินค้า ซึ่งพอประมวลได้ว่าคำว่า “fair” มาจากภาษาละตินว่า “feria” มีความหมายว่า “วันหยุดเทศกาล” หรือ “วันหยุดพักผ่อน” fair จึงเป็นรูปแบบของการจัดแสดงและนิทรรศการทางการค้าที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากคนสมัยนั้นส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามไร่นาป่าเขาซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างขวาง เมื่อต้องการอะไรก็จะผลิตหรือสร้างขึ้นด้วยตนเอง

การจัดเทศกาลแสดงสินค้าในยุคกลางและยุคหลัง

.........ในยุคกลางประชาชนในยุโรปมีความสนใจเรื่องการค้าขายมากขึ้น ทำให้กิจกรรมการจัดเทศกาลแสดงสินค้าเกิดขึ้นทั่วไป หลังจากยุโรปตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรโรมัน เทศกาลการแสดงสินค้ากลายเป็นแหล่งรวมหรือพบปะกันของชาวยุโรปจาก 4 ประเทศได้แก่ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม รัสเซียและเยอรมัน เมืองทรอยส์ (Troyes) เป็นเมืองหนึ่งที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับเหล้าองุ่นและเป็นศูนย์กลางทางการค้าของยุโรป และที่เมืองทรอยส์นี้เองได้มีระบบน้ำหนักสำหรับชั่งทองคำ เงินและ อัญมณีเกิดขึ้นโดยมีระบบการชั่งดังนี้ คือ หนึ่งเพนนี เท่ากับ 1 ออนซ์และ 12 ออนซ์เท่ากับ 1 ปอนด์ ซึ่งระบบน้ำหนักนี้ยังใช้มาจนปัจจุบันทั้งในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

การจัดเทศกาลแสดงสินค้าสมัยใหม่

.........ในศตวรรษที่ 19 โรงงานต่าง ๆ ที่ผลิตสินค้าจำนวนมากมาย การสื่อสารและการขนส่งสินค้าดีขึ้น ผู้ผลิตจะนำเสนอหรือจัดแสดงเฉพาะสินค้าตัวอย่างเท่านั้น เมื่อผู้ซื้อต้องการสินค้าใดก็สามารถสั่งซื้อได้อย่างรวดเร็ว นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่และมีความหมายในการจัดเทศกาลแสดงสินค้าเป็นการจัดนิทรรศการขนาดใหญ่ แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ ศิลปะและสถาปัตยกรรมจากทั่วโลก การจัดกิจกรรมลักษณะนี้นิยมเรียกว่า มหกรรม (exposition)

การจัดนิทรรศการในประเทศไทย
.............จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า นิทรรศการในประเทศไทยโดยเฉพาะทางด้านการศึกษา เริ่มจัดขึ้นในวัดและในวัง
.............ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์และการจัดแสดงงานศิลป์ที่เกี่ยวกับศาสนาในวัดวาอารามล้วนเป็นสื่อที่จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา เช่น ภาพพุทธประวัติและภาพปริศนาธรรม มาตั้งแต่ยุคสมัยอยุธยามาจนถึงยุคปัจจุบัน ส่วนนิทรรศการในวังนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังเช่นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นที่จัดแสดงสิ่งของที่รวบรวมมาตั้งแต่ครั้งยังผนวชอยู่

ความสำคัญของนิทรรศการ

...........นิทรรศการเป็นสื่อที่มีคุณค่าและมีศักยภาพสูงในการดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้ดีเนื่องจากความหลากหลายของสื่อสามารถตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้ชมได้
...........ดังนั้นนิทรรศการที่ดีจะมีอิทธิพลต่อผู้ชมในด้านความรู้ความเข้าใจ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านอารมณ์และความรู้สึก การเปลี่ยนแปลงเจตคติ รวมทั้งการตัดสินใจดังจะเห็นได้จากตัวอย่างนิทรรศการทางการศึกษา ทางการค้าและทางศิลปวัฒนธรรม

วัตถุประสงค์ในการจัดนิทรรศการ

.............1.เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ
............2.เพื่อสร้างความประทับใจ ให้ผู้ชมเกิดความเลื่อมใสศรัทธา
............3.เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมหรือกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนแปลงทัศนคติไปตามวัตถุประสงค์ขององค์กร
...........4.เพื่อการประชาสัมพันธ์หรือสร้างภาพพจน์ที่ดีของบุคลากร องค์กร หรือหน่วยงาน
...........5.เพื่อสร้างความบันเทิง
...........6.เพื่อเป็นการประเมินประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานโดยรวมของหน่วยงานหรือ องค์กรที่เป็นเจ้าของนิทรรศการแต่ละครั้ง

คุณค่าของนิทรรศการ
..........1.เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ ความคิดและข้อมูลต่าง ๆ
..........2.เป็นแหล่งถ่ายทอดสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมได้โดยอาศัยสื่อต่าง ๆจึงทำให้เข้าใจง่ายขึ้น
..........3.เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ที่มีประสิทธิภาพโดยเปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมใน กิจกรรมต่าง ๆ
..........4.เป็นการส่งเสริมการทำงานเป็นหมู่คณะได้เป็นอย่างดี
..........5.การใช้สื่อหลายชนิดในการจัดแสดงนิทรรศการ

คุณสมบัติของผู้จัดนิทรรศการ
.........1.มีความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยาหรือการทำความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์
.........2.มีประสบการณ์และความรู้ความสามารถในวิทยาการแขนงต่าง ๆ
.........3.มีความคิดสร้างสรรค์
.........4.มีแรงจูงใจ มีความมุมานะ มีความสุขที่จะทำงานให้ประสบความสำเร็จ
..........5.มีแผนงานและการทำงานอย่างเป็นระบบ

ประเภทของนิทรรศการ
1. จำแนกตามขนาดของนิทรรศการ ได้แก่
.........1.1 การจัดแสดงหรือจุลนิทัศน์
.........1.2 นิทรรศการทั่วไป
.........1.3 มหกรรม
2. จำแนกตามวัตถุประสงค์ในการจัด ได้แก่
.........2.1 นิทรรศการเพื่อการศึกษา
.........2.2 นิทรรศการเพื่อการประชาสัมพันธ์
.........2.3 นิทรรศการเพื่อการค้า
3. จำแนกตามระยะเวลาในการจัด ได้แก่
.........3.1 นิทรรศการถาวร
.........3.2 นิทรรศการชั่วคราว
.........3.3 นิทรรศการเคลื่อนที่
4. จำแนกตามสถานที่ที่ใช้ในการจัด ได้แก่
.........4.1 นิทรรศการในอาคาร
.........4.2 นิทรรศการกลางแจ้ง
.........4.3 นิทรรศการกึ่งในอาคารกึ่งกลางแจ้ง

เอกสารอ้างอิง

วิวรรธน์ จันทร์เทพย์.(2548). การจัดแสดงและนิทรรศการ. คณะครุศาสตร์.

............มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากค่ะ เป็นประโยชน์มาก

250450120 กล่าวว่า...

ดีจังขอบคุณที่ทำข้อมูลเหล่านี้เผยแพร่นะคะ
อันนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเอกสารประกอบการเรียนการสอน หรืออะไรอย่างไรคะ